วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

                   จักสานงานไผ่ หวาย หัตถกรรมพื้นบ้านเมืองสุพรรณฯ สำนวนไทยที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” จะได้นำมาใช้กันในคราวนี้ เมื่อได้มีโอกาสมาเที่ยวเมืองสุพรรณบุรีแล้วก็ต้องลองเลียนแบบทำเสียงเหน่อ ๆ (เสียงพากย์ในฟิล์ม) ซึ่งดูน่ารักและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวสุพรรณฯ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและสถานที่เมื่อได้มาทำงาน ณ เมืองที่เลื่องชื่อลือชาทางด้านวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผนนั่นเอง ในครั้งนี้จะขอเสนองานจักสานจากฝีมือของชาวบ้าน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีสินค้าที่น่าสนใจไม่แพ้จังหวัดใดในภาคกลางกันบ้าง ที่บ้านโพธิ์ศรีเป็นที่ตั้งของกลุ่มจักสานไม่ไผ่และหวายในแต่ละวันหลังจากที่ว่างเว้นจากงานประจำ หรือหมดฤดูกาลของการทำนาแล้ว กลุ่มจักสานบ้านโพธิ์ศรีก็จะมานั่งจักสานกันอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน โดยมีป้าปั่น เปิ่นใจช่วย ประธานกลุ่มแม่บ้าน เป็นผู้ดูแลการทำงาน เพื่อผลิตสินค้าสำหรับจำหน่ายและส่งให้ลูกค้าที่สั่งทำ เมื่อเดินเข้าใกล้ตัวบ้านจะมองเห็นเครื่องจักสานที่ทำสำเร็จแล้วหลากหลายแบบวางเรียงรายอยู่ในตู้และชั้นวางของที่ใต้ถุนบ้านใกล้ ๆ กันมีคุณลุงคุณป้าอีกสองสามคนกำลังง่วนอยู่กับเครื่องจักสานที่ตนนั่งทำอยู่ มีทั้งตะกร้า กระจาด กระเป๋าถือ กระเช้า กล่องใส่กระดาษชำระ แจกัน ถาดใส่ผลไม้ และฝาชี สารพัดขนาด รูปทรงของเครื่องจักสานมีทั้งทรงกลม ทรงรี และทรงสี่เหลี่ยม ลวดลายของเครื่องจักสานแต่ละประเภทนั้นล้วนแต่มีความประณีต สวยงาม เช่น ลายหนามทุเรียน ที่มีลักษณะเป็นปุ่มนูนคล้ายกับหนามทุเรียน ลายดอกพิกุล ซึ่งถือว่าเป็นลายเจ้าประจำยอดนิยมของบรรดาเครื่องจักสานทั้งหลายและยังรวมไปถึงลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย ลายดอกลั่นทม เป็นลายดอกเล็กละเอียดดูสวยงามและยังเป็นลายที่สานยากรองจากลายหนามทุเรียน ลายแววมยุรา มีลักษณะเด่นคือใช้เส้นตอกไผ่ย้อมสีสอดสานเป็นเส้นโค้งเป็นลอนคลื่นอยู่ภายในลาย และสุดท้ายคือลายสตางค์ ลายที่นำแบบมาจากเหรียญสตางค์ในสมัยก่อน ป้าปิ่น หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มจักสานบ้านโพธิ์ศรีเป็นผู้เฉลยที่มาของแต่ละลายให้ได้ทราบจนครบถ้วน ซึ่งลายเหล่านี้มีมาตั้งแต่ในสมัยอดีต ปู่ย่าตายายได้นำวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการจักสานเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เช่น ตะกร้าใบใหญ่ใช้ใส่ของเวลาไปทำบุญที่วัด ฝาชีสำหรับครอบอาหาร ตะกร้าใบเล็กสำหรับใส่หมาก เป็นต้น วัสดุที่ใช้ในการจักสานคือไม้ไผ่และหวาย วิธีการทำนั้นก็จะนำไม้ไผ่สีสุกมาจักตอกสำหรับทำโครง โดยใช้ไม้รูปทรงต่าง ๆ เป็นหุ่นสำหรับขึ้นลาย แล้วนำหวายมาเหลาให้เป็นเส้นและนำมาชักเลียด โดยรูดเส้นหวายผ่านฝากระป๋องที่ตอกตะปูเป็นรูขนาดต่าง ๆ ไว้ เพื่อให้ได้เส้นหวายที่มีความสม่ำเสมอกันตลอดทั้งเส้น ซึ่งการที่จะสานเครื่องจักสานให้ได้สักชิ้นนั้นจะต้องใช้ความชำนาญ อาศัยความประณีต และมีความอดทนในการทำงานที่ค่อนข้างสูง หากแต่คนรุ่นหลังให้ความสนใจกับงานเหล่านี้กันสักนิด ก็จะเป็นการช่วยสืบสานงานหัตถกรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตเพื่อมิให้งานอันทรงค่าสูญหายไปจากสังคมไทย นอกจากนี้ที่บ้านบางแม่หม้าย ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้านี้ยังมีสินค้าคุณภาพดีอีกชนิดหนึ่งคือไม้กวาดใยมะพร้าว งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าไม้กวาดประเภทอื่น ๆ คือ เส้นใยมะพร้าวจะไม่ขาด หรือหลุดลุ่ยง่าย คงทน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหลายปี มีให้เลือกซื้อหาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวเมืองสุพรรณฯ ก็อย่าลืมแวะไปอุดหนุนงานหัตถกรรมของชาวบางปลาม้ากันบ้างนะคะ เป็นการกระจายรายได้สู่ชนบท แหม..เข้ากับนโยบายใหม่ที่ว่า ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ เป๊ะเลยค่ะ สนใจผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากไม้ไผ่และหวาย สามารถสั่งซื้อและสั่งทำได้ที่กลุ่มจักสานไม้ไผ่และหวายบ้านโพธิ์ศรี เลขที่ ๔ หมู่ที่ ๓ บ้านโพธิ์ศรี ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ๗๒๑๕๐ โทรศัพท์ (๐๓๕) ๕๘ ๗๖๘๔ หัตถกรรมพื้นบ้านไม้กวาดใยมะพร้าว บ้านบางแม่หม้าย หมู่ ๔ ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ๗๒๑๕๐ โทรศัพท์ (๐๓๕) ๔๒ ๔๒๔๙